นับตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2565 พืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ทำให้หลายคนเริ่มสนใจประโยชน์ของ “ใบกระท่อม” กันอย่างแพร่หลาย
อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย เริ่มที่จะมีการปลูกมากอยู่พอสมควร และ นำใบกระท่อมออกมาจำหน่าย
ทำความรู้จัก“กระท่อม“
กระท่อมเป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง แก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นมีความสูงประมาณ 4-16 เมตร มีลักษณะใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม เป็นพืชพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ กระท่อมก้านเขียว , กระท่อมชนิดขอบใบหยัก และ กระท่อมก้านแดง
สรรพคุณจาก “ใบกระท่อม”
- สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น อาการเจ็บปวดทางร่างกาย เนื้อเยื่อ ปวดหลัง ระบบประสาท กล้ามเนื้อ หรือ เส้นเอ็น
- สามารถบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากภาวะเรื้อรัง เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน โรคข้ออักเสบ เป็นต้นโดยไม่คำนึงถึงที่มาความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- สามารถใช้บดทำเป็นยาสมุนไพรสำหรับพอกรักษาแผล
- สามารถช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า รักษาระดับพลังงาน ทำงานได้นานขึ้น และไม่หิวง่าย
- สามารถรักษาอาการมวนท้อง โรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ และช่วยในเรื่องการเผาผลาญ
- สามารถแก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยระงับประสาท คลายวิตกกังวล
- สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์สำคัญของร่างกาย
- สามารถช่วยลดความดันโลหิต อีกทั้งในตำรับยาแผนโบราณยังใช้ใบกระท่อมรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วย
- สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นยารักษาเบาหวาน
- สามารถใช้บรรเทาอาการปวดแทนมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการนำไปใช้ในแบบผิดวัตถุประสงค์รวมถึงจำหน่ายอาหาร หรือ น้ำ ที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์ และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ยังถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย