ก.ล.ต. คืออะไร?

0
366

ก.ล.ต. คืออะไร มีบทบาทอย่างไรบ้าง

ก.ล.ต. คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คือชื่อเต็มๆ เป็นองค์กรที่คุ้มครองสิทธิให้กับนักลงทุน ดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์และยังกำกับกฏเกณฑ์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้อย่างสบายใจ ไม่ให้มีการโกงกันเกิดขึ้นเมื่อบรรยากาศการลงทุนดี ก็ย่อมมีนักลงทุนสนใจที่อยากจะลงทุนมากขึ้น เนื่องจากตลาดทุนหรือตลาดหุ้นนั้นเป็นแหล่งระดมทุนที่มีขนาดใหญ่และคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต.

มีหน้าที่กำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆรวมทั้งคอยสอดส่อง ให้ตลาดทุนมีความโปร่งใส และ มีความยุติธรรมมากที่สุด หากมีการกระทำที่ผิดอย่างเช่นเกิดการปั่นหุ้น หรือ ใช้ข้อมูลภายในมาซื้อขายหุ้นก็สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ ซึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายส่วนตั้งแต่ ประธานกรรมการ ก.ล.ต., ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ต่างจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างไร

หลายคนเข้าใจว่า กลต.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) คือองค์กรเดียวกันกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)แต่จริงๆแล้วทั้งสององค์กรนี้เป็นคนละองค์กรกัน มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องระบบซื้อขายให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งให้บริษัทจดทะเบียนส่งข้อมูลต่างๆตามกำหนดเวลาและช่วงที่บริษัทมีเหตุการณ์สำคัญ ส่วน ก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมเปรียบเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ให้นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทั้งหมด ไม่ว่าผู้ออกหลักทรัพย์ ที่ปรึกษา ตัวแทนนายหน้า นักลงทุน

ถึงแม้ว่า ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)จะเป็นคนละองค์กรกันแต่ทั้งสององค์กรก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการให้ตลาดการลงทุน หรือ ตลาดหุ้นเป็นระเบียบเรียบร้อย มีบรรยากาศการลงทุนที่ดีนั่นเอง