ตัวแปร คืออะไร

0
4434

คำว่า “ตัวแปร” คืออะไร

     ตัวแปรสามารถจำแนกความหมายได้รูปแบบซึ่งขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่ในแต่ละประเภทซึ่งในบทความนี้ได้ยกอย่างมา 2 ความหมายได้แก่

นิยามของตัวแปรในความหมายของภาษาคอมพิวเตอร์คืออะไร

     ตัวแปร (อังกฤษ: variable) คือ การจองพื้นที่ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์สำหรับเก็บข้อมูลที่ต้องใช้ในการ ทำงานของโปรแกรม โดยมีการตั้งชื่อเรียกหน่วยความจำในตำแหน่งนั้นด้วย เพื่อความสะดวกในการเรียกใช้ข้อมูล ถ้าจะใช้ข้อมูลใดก็ให้เรียกผ่านชื่อของตัวแปรที่เก็บเอาไว้ ถ้าเราสร้างโปรแกรมขึ้นมาโปรแกรมหนึ่ง แล้วโปรแกรมนี้ไม่สามารถหาคำตอบอื่นได้เลยนอกจากค่าที่โปรแกรมเมอร์กำหนดลงไปเท่านั้นมันคงจะเป็นโปรแกรมที่น่าเบื่อแย่ เช่นถ้าเราสร้างโปรแกรมเครื่องคิดเลขขึ้นมา แต่ดันหาคำตอบได้แค่ 1 + 1 หรือ 1 + 2 เท่านั้น ถ้าเป็นเลขนอกเหนือจากนี้ จะคิดไม่ออก คงจะแย่น่าดู ตัวแปรเป็นสิ่งที่เกิดมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถจำค่าต่างๆ ที่กำลังคิดเลขอยู่ในตอนนั้นได้

หน้าที่ของตัวแปร
     เมื่อทำการเตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้ว การจะนำข้อมูลเข้ามาใช้ในโปรแกรม ต้องทำให้อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์เข้าใจและรู้จักข้อมูลเสียก่อนจึงจะใช้งานได้ ซึ่งวิธีการก็คือ การสร้างตัวแปร หรือ การกำหนดตัวแปร เพื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นขึ้นมา

ชนิดของตัวแปรได้แก่
     ตัวแปรสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
1.ตัวแปรพื้นฐาน (Scalar) หมายถึงตัวแปรที่เก็บข้อมูลได้เพียงค่าเดียว
2.ตัวแปรชุด (Array) หมายถึงตัวแปรที่สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้หลายค่าในตัวแปรตัวเดียว

 



นิยามของตัวแปรในความหมายของการวิจัยคืออะไร

ตัวแปร (variables) หมายถึง คุณลักษณะของสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจจะศึกษา ซึ่งมีค่าแปรเปลี่ยนแตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยของสิ่งนั้น ๆ โดยค่าการวัดที่ได้หรือลักษณะของสิ่งเหล่านั้นจะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวิจัยตัวแปรที่รู้จักกันทั่วไปในการวิจัยโดยแบ่งตามบทบาทหน้าที่ของตัวแปรนั้น ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิดได้แก่

1. ตัวแปรอิสระ หรือ ตัวแปรต้น (Independent variable)

หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือลักษณะที่แปรผันของปรากฏการณ์ เป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้น หรือจัดสภาพการณ์หรือเป็นตัวจัดกระทำเพื่อมุ่งศึกษาผลที่จะเกิดตามมา ตัวแปรประเภทนี้มีลักษณะเป็นตัวแปรไม่ต่อเนื่อง เช่น วุฒิการศึกษา เพศ ฯลฯ เป็นต้น

2. ตัวแปรตาม (Dependent variable)

หมายถึง คุณลักษณะของปรากฏการณ์ที่ต้องการจะศึกษา ในงานวิจัยแต่ละครั้งจัดว่าเป็นตัวแปรที่เกิดจากการจัดกระทำ เป็นตัวแปรที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นตัวบ่งชี้หรือตอบคำถามวิจัย

3. ตัวแปรแทรกซ้อน หรือตัวแปรเกิน (Extraneous variables)

เป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยไม่ได้สนใจจะศึกษา แต่ตัวแปรนี้มีผลกระทบต่อตัวแปรตาม ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมตัวแปรเหล่านี้

4. ตัวแปรสอดแทรก (Intervening variables)

เป็นตัวแปรซึ่งมีผลกระทบตามทฤษฎีต่อตัวแปรตาม แต่ไม่สามารถมองเห็น วัด หรือจัดกระทำได้โดยตรง ผลของตัวแปรจะต้องพิจารณาจากผลของตัวแปรอิสระที่มีต่อตัวแปรตาม ตัวแปรประเภทนี้มักได้แก่ กระบวนการทางจิต เช่น ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ