ปีอธิกสุรทิน คืออะไร
ปีอธิกสุรทิน [อะ-ทิก-กะ-สุ-ระ-ทิน] เป็นภาษาบาลีสันสกฤตโดยมาจากคำว่า อธิก อ่านว่า อะ-ทิ-กะ หรือ อะ-ทิก-กะ เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า “ยิ่ง เกิน มาก เพิ่ม” ส่วนคำว่าสุรทิน มาจาก สุร + ทิน ซึ่ง ทิน แปลว่า “วัน” สุร จะแปลว่า “ผู้กล้าหาญ นักรบ หรือ พระอาทิตย์” ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระอาทิตย์ สุรทิน จึงหมายถึง วันทางสุริยคติ ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า leap year และ ปีอธิกสุรทิน มีความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า วันที่เพิ่มขึ้นในปีสุริยคติ คือในปีนั้นมีการเพิ่มวันเข้าไปในเดือนกุมภาพันธ์อีกวันหนึ่งเป็น 29 วัน ตามธรรมดาเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน ปฏิทินบางฉบับเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วันว่า “ปีปกติสุรทิน” และเรียกปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ว่า “ปีอธิกสุรทิน”
หลักการคำนวณปี อธิกสุรทิน
การคำนวณเพื่อกำหนดว่าปีใดมี 29 กุมภาพันธ์หรือไม่ ให้มีหลักการของปีอธิกสุรทินที่มีความชัดเจน โดยกำหนดเป็นสูตรไว้ดังนี้ คือ
- นำปี ค.ศ.หาร 4 ลงตัว ถือเป็นปีอธิกสุรทิน
- ยกเว้นปีนั้นหาร 100 ลงตัวให้เป็นปีปกติ
- ถ้าหารปีด้วย 400 ลงตัวให้ถือเป็นปีอธิกสุรทิน
ยกตัวอย่างปีอธิกสุรทินจะมี 4 ปีครั้งเช่น ปีพ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เป็นปีอธิกสุรทิน ปีต่อไปที่เป็นปีอธิกสุรทินคือปีพ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) และปีอธิกสุรทินต่อไปเป็น พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ซึ่งทั้งหมดหารด้วยเลข 4 ลงตัว ถ้าหารไม่ลงตัวก็เป็นปีปกติ
เหตุที่จะต้องมีปีอธิกสุรทินทุก 4 ปี เพราะตามระบบของปฏิทินทางสุริยคติ จะต้องเพิ่มวันเข้าไป 1 วันเพื่อให้ปีนั้นมี 366 วัน วันที่เพิ่มเข้าไปนี้เรียกว่า อธิกสุรทิน การที่ต้องเพิ่มวันเนื่องจากในปีหนึ่งๆนั้นตามความเป็นจริงมีจำนวนวัน 365.25 วัน ไม่ใช่ 365 วันถ้วนอย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไป ดังนั้นเพื่อรวมเศษที่ตกค้างในแต่ละปีให้เป็น 1 วันได้ก็จะทำได้ทุก 4 ปี ทำให้สะดวกในการนับจำนวนวันในแต่ละปี คือนับจำนวนถ้วนๆ โดยให้ปีที่ 1, 2, และ3 มี 365 วัน และปีที่ 4 มี 366 วัน เป็นดังนี้เรื่อยไป