‘แบงก์ชาติ’ แนะแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้
จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ผู้ที่มีหนี้ บางงวดส่งไม่ไหวได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มมากกว่าเดิม ทั้งนี้“ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) จึงได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่เรื่อง “การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” และ “อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” เพื่อช่วยลดภาระหนี้และสร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน รวมไปถึงลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อหมุนเวียน (ยกเว้นผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต และสินเชื่อเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์สำหรับบุคคลธรรมดา)
ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213
หลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่
1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น
การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ จะคิดจากเงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ต่างจากวิธีคิดเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว จะคิดดอกเบี้ยจากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ทำให้มียอดดอกเบี้ยผิดนัดสูง ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าลดลงสอดคล้องกับเงินต้นตามงวดที่มีการผิดนัดชำระหนี้ และเกิดความเป็นธรรมกับลูกค้า
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%”
กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยคิดจาก”อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%“ยกตัวอย่าง หากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ธนาคารจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11%
(ดอกเบี้ยตามสัญญา 8% + ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ 3%) โดยจะต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดอัตราเดียวตามประกาศของธนาคารในการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัด
3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก”
การปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เมื่อลูกค้าชำระค่างวดเข้ามา ธนาคารจะตัดชำระหนี้ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นในงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ในส่วนที่เหลือจึงค่อยตัดชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและหนี้อื่นๆ ที่ค้างชำระของเดือนถัดไป