ระวัง!! คุณกำลังเสพติดสมาร์ทโฟน โรคยอดฮิตในสังคมยุค เจนวาย (Generation Y)

0
1713

ก่อนอื่นต้องขยายความคำว่าเจนวายก่อนนะคะ เจนวาย (Generation Y) ก็คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2543 อายุ 9-29 ปี เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในทั้งช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน คนกลุ่มนี้โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไอที จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการ ติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่าสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือได้อย่างคล่องแคล่ว เราอาจจะเคยเห็นภาพคนยุคใหม่ที่นั่งเล่น iPad ไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วย แถมบางคนยังกินข้าวไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกต่างหาก เอาซี้ อย่าบอกว่านะ คุณไม่เคย!!

FOMO-5

ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะหันไปทางไหนก็ตาม สื่งที่คุณจะได้เห็นก็คือ คนก้มหน้าก้มตาอยู่กับสมาร์ทโฟนค่ะ  นั่งจิ้มหน้าจออย่างขะมักเขม้นจนแทบจะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างเลย เมื่อทุกคนนั่งกินข้าวด้วยกัน แทนที่จะนั่งมองหน้ากัน มองตากัน คุยกัน กลับกลายเป็นว่า ทุกคนจ้องลงไปที่สมาร์ทโฟน แล้วก็คุยแบบไม่ใช้เสียงกับคนที่อยู่ข้างใน ไม่เฉพาะบนโต๊ะกินข้าว แต่คุณสามารถเห็นได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ร้านกาแฟ ตลาด บนห้างหรือแม้แต่กระทั่งในรถยนต์ จนบางครั้งก็เป็นสาเหตุให้ต้องประสบอุบัติเหตุต่างๆ จนเค้าวิจัยออกมาว่าการใช้สมาร์ทโฟนขณะขับขี่ มีอันตรายสูงมากกว่าการขับขี่ในขณะที่ดื่มสุราอีกนะคะ ยังค่ะยังไม่หมด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกเยอะแยะมากมายอธิบายไม่หมดกันเลยทีเดียว และนอกจากนั้นการใช้สมาร์ทโฟนจนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายทำให้คุณฝังตัวอยู่ในโลกออนไลน์ มากกว่าสังคมที่แท้จริง ทำให้เกิดปัญหาสังคม นู่น นั่น นี่ ตามมามากมาย

 reading-while-driving-1024x578

เป็นไงคะ เริ่มทราบถึงความน่ากลัวกันมั้งรึยังเอ่ย ลองเช็คสัญญาณของอาการติดสมาร์ทโฟนกัน ว่าคุณเข้าข่ายมีอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) หรือติดสมาร์ทโฟนถึงขั้นวิกฤตแล้วรึยัง

Nomophobia

 

1

หยิบโทรศัพท์มาเช็กทันทีที่มีเสียงเตือน

แม้ว่าจะยุ่งแค่ไหนแต่ถ้ามีเสียงติ๊ดเบา ๆ หรือเสียงสัญญาณว่าโทรศัพท์มีการติดต่อเข้ามา คุณก็จะละทิ้งภารกิจติดพันทุกอย่างลงทันที แล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการกระวนกระวาย ลุกลี้ลุกลนหมดสมาธิกับอย่างอื่นอย่างฉับพลัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า คุณเริ่มมีอาการโนโมโฟเบีย แล้วล่ะ

แนวทางแก้ไขและป้องกันอาการที่ว่านี้ก็คือ คุณต้องพยายามยั้งคิดให้ได้ว่าข้อความที่เข้ามาทางโทรศัพท์อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เป็นเรื่องที่รอได้และคุณก็ต้องให้ความสนใจภารกิจที่กำลังทำอยู่ก่อน อีกทั้งควรจะห่างโทรศัพท์เอาไว้ด้วย เวลานอนควรจะปิดโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็วางไว้ให้ไกลตัวที่สุด เวลาไปไหนมาไหนก็ควรเก็บโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋า ไม่ถืออยู่กับตัวตลอดเวลา เพื่อเบรกตัวเองออกจากความวิตกกังวลที่มีสาเหตุมาจากโทรศัพท์มือถือนะคะ

2 (2)

 

2

หลอนว่าโทรศัพท์สั่นหรือดังอยู่บ่อย ๆ

อาการหลอนว่าโทรศัพท์สั่นหรือดัง (Phantom Cellphone Syndrome) ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาจริง ๆ เป็นอาการที่ค่อนข้างชัดเจนมากว่า คุณกำลังติดเทคโนโลยีไร้สายเข้าขั้นวิกฤตแล้ว แต่จะว่าไปก็เป็นอาการพื้นฐานที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ยืนยันด้วยผลสำรวจของ Indiana University-Purdue University Fort Wayne ที่พบว่า 89% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ มีอาการหลอนว่าโทรศัพท์สั่น หรือดังทั้ง ๆ ที่ไม่มีสายเข้าอยู่บ่อย ๆ

 

3

มีอาการ FOMO หรืออาการกลัวพลาดข่าวสารสำคัญ

ลองสังเกตตัวเองดูบ้างไหมคะว่าคุณอัพเดทหน้าแรกของโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ชนิดที่วางโทรศัพท์ได้ไม่ถึง 5 นาทีก็ยกขึ้นมาเช็กข่าวใหม่ ๆ อีกครั้งแล้ว เรียกได้ว่าอยากจะรู้ทั้งข่าวสาร และเรื่องราวของชาวโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด ใครไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไร กินอะไร ก็พลาดไม่ได้สักวินาที ถ้าไม่รู้ก็จะหงุดหงิด กระวนกระวาย ใจไม่เป็นสุข ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีอาการ FOMO (Fear Of Missing Out) หรืออาการกลัวพลาดข่าวสารในโซเชียลมีเดียแบบนี้ ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซะใหม่ ปล่อยผ่านเรื่องราวของคนอื่นไปบ้าง แล้วหันมาสนใจเรื่องของตัวเอง กับสิ่งที่ตัวเองทำให้มากขึ้นดีกว่า

1_new-phone-2-620x349

 

4

ไม่สนใจคนรอบข้าง

เดี๋ยวนี้เป็นพฤติกรรมที่เห็นกันชินตาเลยก็ว่าได้ ขนาดมาด้วยกัน นั่งใกล้กัน ต่างคนก็ต่างนั่งคุยโทรศัพท์ ไม่ยอมหันหน้ามามองหรือพูดคุยกันเลย ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คนใกล้ชิดที่เคยสนิทสนมกันก็อาจจะกลายเป็นความห่างเหินเหมือนมีช่องว่างตรงกลางที่เอื้อมไม่ถึง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน หรือฝ่ายหนึ่งส่งสารไป แต่อีกฝ่ายไม่รับสารนั้น มัวนั่งก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์หน้าตาเฉย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณดีกว่า ที่สำคัญอย่าปล่อยให้เทคโนโลยีมาพรากคุณออกจากความอบอุ่นของเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิดเลยนะ

3326toilet

 

5

ขาดโทรศัพท์ขาดใจ

สำหรับคนที่อยู่ห่างโทรศัพท์ไม่ได้เลย เพราะเมื่อไรที่ไม่ได้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัพเดทสเตตัส ถ่ายรูป หรือเช็กอิน ก็เหมือนจะขาดใจตายเสียให้ได้ นั่นก็แสดงว่าคุณเข้าข่ายติดโทรศัพท์อย่างหนัก เรียกได้ว่าถ้าเปรียบเทียบกับอาการป่วยก็ต้องบอกว่าเขาขั้นสาหัสเลยทีเดียว ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ ควรจะออกห่างจากโทรศัพท์บ้าง ทำเป็นเหมือนไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัวได้เลยยิ่งดี เพื่อลดอาการเสพติดโทรศัพท์ ที่อาจจะเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเครียด และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมานะคะ

 

6

ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง

ถ้าวัน ๆ ไม่สามารถเงยหน้าขึ้นมาจากโทรศัพท์ หรือแยกแยะและเรียงลำดับความสำคัญของชีวิตในแต่ละวันได้ คงไม่พ้นต้องเสียสมาธิในการเรียนและการทำงานไปไม่น้อย จนอาจจะเป็นสาเหตุให้คุณมีประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ ให้ห่างไกลจากอาการติดโทรศัพท์มือถือโดยด่วน ก็อาจจะต้องเสียใจกับผลลัพธ์ที่จะตามมาทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน การเรียน รวมทั้งปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึงอีกมากเลยนะจ๊ะ

 howtosmartphoneaddiction-xx2796-1573-0-1

จริงอยู่ว่า ณ บัดนาว สมาร์ทโฟนมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันมากๆ ตั้งแต่ตื่นยันนอน จนเกือบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 หรือกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายไปแล้ว แต่ถ้าไม่รู้จักใช้อย่างเหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์นะคะคุณขา ดังนั้นเราควรเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้เป็น อย่าทำให้เทคโนโลยีมาครอบงำหรือมีบทบาทในชีวิตเรามากเกินไปนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Kapook.Com